กรณีศึกษา จากเหมืองแร่ สู่ คาเฟไร่มัลเบอร์รี แห่งแรกในกาญจนบุรี
InspirationBusiness

กรณีศึกษา จากเหมืองแร่ สู่ คาเฟไร่มัลเบอร์รี แห่งแรกในกาญจนบุรี

23 มี.ค. 2021
กรณีศึกษา จากเหมืองแร่ สู่ คาเฟไร่มัลเบอร์รี แห่งแรกในกาญจนบุรี /โดย ลงทุนเกิร์ล
Mulberry Mellow คือ คาเฟมัลเบอร์รี ออร์แกนิก ขนาดใหญ่กว่า 5 ไร่ 
ที่ตั้งอยู่ในอําเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
เราอาจคิดว่า Mulberry Mellow คือ คาเฟทั่ว ๆ ไป
แต่จริง ๆ แล้วที่นี่กลับมีเรื่องราวของธุรกิจที่น่าสนใจซ่อนอยู่
และหากใครที่อยากจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ
เรื่องราวของ Mulberry Mellow ก็ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ไม่ควรพลาด
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสคุยกับคุณเป๋า ปิลันธน์ คูหากาญจน์ และคุณออม อดิวัณ วงศ์ชินศรี เจ้าของคาเฟ Mulberry Mellow ที่ส่งเคสธุรกิตเข้ามาทางเพจ และเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของคาเฟ Mulberry Mellow ให้เราฟัง 
แล้วธุรกิจคาเฟ Mulberry Mellow มีที่มาที่ไปอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อราว ๆ 70 ปีที่แล้ว
ในขณะนั้นพื้นที่เดิมของคาเฟ Mulberry Mellow ได้ถูกใช้ทำเป็นเหมืองแร่โดโลไมต์
แต่ต่อมาชุมชนในละแวกนั้น ก็เริ่มขยายตัวเข้ามาใกล้กับเหมืองแร่มากขึ้น
ทำให้การขุดเจาะ หรือการทำเหมืองเป็นไปได้ยากมากที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆในชุมชน
ดังนั้นครอบครัวของคุณเป๋า จึงตัดสินใจปรับตัวมาทำการเกษตรแทน
ซึ่งหนึ่งในพืชที่ถูกนำมาปลูกก็คือ “ต้นมัลเบอร์รี”
เนื่องจากในสมัยนั้น คนที่ปลูกต้นมัลเบอร์รียังมีไม่มากนัก 
อีกทั้งสรรพคุณของใบมัลเบอร์รี ก็ยังน่าสนใจไม่น้อย 
เพราะถ้าใบมัลเบอร์รีถูกนำมาแปรรูปเป็นชา จะเป็นชาที่ไม่มีกาเฟอีน และยังมีคุณสมบัติในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และนำ้ตาลในเลือดอีกด้วย
ดังนั้นในปี 1998 พวกเขาจึงเริ่มนำใบมัลเบอร์รีมาแปรรูปเป็นใบชา 
และส่งไปขายตามซูเปอร์มาร์เกตทั่วประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า “กาญจนา”
แม้ว่าจะมีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อสินค้าของแบรนด์กาญจนาอยู่ไม่ขาดสายหลายสิบปี
แต่หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ แบรนด์ต้องเสียค่า GP ให้กับซูเปอร์มาร์เกตในอัตราที่สูงมาก
และกลุ่มลูกค้าของแบรนด์กาญจนา ก็ยังไม่ได้มีสูงมาก
ที่สำคัญคือ แบรนด์กาญจนา ยังไร้ตัวตน
เพราะไม่มีใครรู้ว่าแบรนด์กาญจนามีจุดเด่นอะไร ปลูกใบชาที่ไหน และน่าเชื่อถือแค่ไหน
หากจะทำการตลาดให้คนในวงกว้างรู้จัก บริษัทจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการโฆษณาที่สูงมาก
ดังนั้นคุณเป๋าและคุณออม ซึ่งเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจต่อจากที่บ้าน จึงกลับมาทบทวน และพยายามหาทางแก้ จนได้คำตอบเป็นการเปิด “คาเฟมัลเบอร์รี”
ในบริเวณที่รอบ ๆ ไร่ที่ปลูกต้นมัลเบอร์รี โดยใช้ชื่อร้านว่า Mulberry Mellow 
ซึ่งความตั้งใจในการเปิดคาเฟแห่งนี้ ก็เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ว่า พวกเขามีการปลูกชาเป็นของตัวเอง
และชวนให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ในการมาเยือนสถานที่จริง
หากในวันหนึ่งที่คาเฟแห่งนี้โด่งดังขึ้น การส่งสินค้าไปขายในระดับแมส ก็จะทำได้ง่ายขึ้น และจะช่วยให้แบรนด์ใช้งบสำหรับการทำการตลาดน้อยลง
โดย Mulberry Mellow เป็นแบรนด์ใหม่ ที่พวกเขาตั้งใจสร้างขึ้นให้มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย และสนุกขึ้น
ส่วนสินค้าจะใช้เกรดเดียวกันกับที่ขายในแบรนด์กาญจนา 
แต่จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งชาอัญชัน, ชาตะไคร้, ชาใบเตย และชามัลเบอร์รี
ซึ่งใบชาทุกชนิดจะสามารถนำมาผสมกันได้ตามความชอบของลูกค้าแต่ละคน
ดูเหมือนว่าการตัดสินใจเปิดคาเฟ Mulberry Mellow จะมาได้ถูกทาง
เพราะพวกเขาได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด 
โดยในหนึ่งเดือนจะมีผู้มาใช้บริการสูงถึง 15,000 คน
แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนรายได้ที่จะมาจาก 3 กิจการหลัก ได้แก่
กิจการแรก คือ “การขายส่งชา ไปต่างประเทศ” เช่น สหรัฐฯ, เยอรมนี, ออสเตรีย, ออสเตรเลีย, แคนาดา และสโลวาเกีย
โดยในหนึ่งปี จะมีใบชาถูกส่งไปขายกว่า 1.5 - 2.0 ตัน
กิจการที่สอง มาจาก “การขายชาสำเร็จรูป” ภายใต้แบรนด์ กาญจนา
โดยจะวางขายตามซูเปอร์มาร์เกตต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
กิจการที่สาม มาจากการขายสินค้า ภายในคาเฟ Mulberry Mellow
ซึ่งมีการวางขายใบชา ทั้งจากแบรนด์กาญจนา และ Mulberry Mellow ควบคู่กัน
โดยใน 1 เดือน คาเฟ Mulberry Mellow สามารถทำยอดขายใบชาได้สูงถึง 1 ตัน
แปลว่า การขายผ่านทางคาเฟ เพียงเดือนเดียว 
ก็สูงเท่ากับการขายส่งไปต่างประเทศเกือบทั้งปี
นอกจากนั้นการขายสินค้าผ่านทางคาเฟยังสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าการขายส่ง และการขายผ่านซูเปอร์มาร์เกต
เพราะทางร้านไม่ต้องถูกกดราคา หรือ หัก GP จากการฝากขายตามสถานที่ของคนอื่น
ดังนั้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า การหันมาเปิดร้านคาเฟของตัวเอง แบบ Mulberry Mellow นี้
ช่วยลดการพึ่งพาช่องทางการขายที่ขึ้นอยู่กับบุคคลภายนอก
และช่วยสร้างอำนาจในการตั้งราคาสินค้าให้กับ Mulberry Mellow ได้อีกด้วย
ที่สำคัญคือ เมื่อพวกเขาสร้างรากฐานของธุรกิจมาได้อย่างดี
ในวันหน้าที่พวกเขาเติบโต ก็จะยืนได้ด้วยขาของตัวเองอย่างมั่นคง
เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ในวันแรก ๆ อาจยังเป็นเพียงต้นเล็ก ๆ ที่ไม่ออกผล
แต่หากวันหนึ่งที่ต้นไม้เติบใหญ่ ผลของมันจะผลิบาน จนเราอาจจะเก็บกินไม่ทัน..
Reference: 
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณออมและคุณเป๋า เจ้าของ Mulberry Mellow
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.