ต้นกำเนิด Peko จากแมสคอตร้านขนม สู่ การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ
Business

ต้นกำเนิด Peko จากแมสคอตร้านขนม สู่ การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ

30 ต.ค. 2021
ต้นกำเนิด Peko จากแมสคอตร้านขนม สู่ การสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ หนูน้อย Peko ที่แสนจะน่ารัก
เคยมีข่าวลือสุดสยองว่า เธอเป็นเด็กผู้หญิงที่ “กินเนื้อแม่ของตัวเอง” เข้าไป
แต่ความจริงแล้ว Peko เป็นเพียงแครักเตอร์ที่ Fujiya บริษัทผู้ผลิตขนมสร้างขึ้นเท่านั้น ซึ่งมีแต่เบื้องหลังที่เต็มไปด้วยความเป็นมิตร
และแม้ว่าภายนอกจะเป็นเด็กน้อยน่ารัก แต่ถ้านับตามอายุคนแล้ว Peko จะมีอายุถึง 71 ปีเลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ ตั้งแต่สร้าง Peko ขึ้นมา เธอยังทำหน้าที่เป็นแมสคอต หรือตัวนำโชคได้สมกับตำแหน่งที่ได้รับอีกด้วย
แล้ว Peko มีที่มาอย่างไร และเธอสำคัญแค่ไหนกับบริษัท Fujiya ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อ 111 ปีก่อน
ชายที่ชื่อว่า Rin’emon Fujii ได้ก่อตั้งร้านขนม สไตล์ตะวันตกขึ้น ที่โยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น
ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเริ่มขยายเข้าสู่กิจการ “ขนมเค้ก” ซึ่งการเพิ่มไลน์สินค้าเข้ามาในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ทำให้กิจการ Fujiya เติบโตกลายมาเป็นเชนร้านขนมเค้กรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างในปัจจุบัน
แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ในปี 1950
เมื่อบริษัท Fujiya ได้สร้างแครักเตอร์ สำหรับใช้โปรโมตสินค้า และส่งเสริมการขายขึ้นมา ซึ่งแครักเตอร์ที่ว่าก็คือ “Peko” นั่นเอง
โดย Peko ได้ถูกวางแครักเตอร์ให้เป็นเด็กผู้หญิง อายุ 6 ขวบ ที่ดูสดใส ร่าเริง พร้อมกับท่าทางเลียริมฝีปาก ราวกับเพิ่งได้ทานของอร่อยมา
ซึ่งหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเจ้าหนู Peko ก็คือ การเป็นพรีเซนเตอร์อยู่บนห่อลูกอม “Milky” ที่เปิดตัวในปี 1951 และได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างดี
และในปีเดียวกันนี้ ไม่เพียง Peko จะประสบความสำเร็จกับการอยู่บนลูกอม Milky แล้ว
บริษัท Fujiya ยังได้นำ Peko มาสร้างเป็น “หุ่น 3 มิติ” จากเปเปอร์มาเช่ (Papier-mâché) สำหรับวางอยู่ด้านหน้าร้านขนมเค้ก เพื่อสร้างจุดขาย และทำให้ลูกค้าไม่สับสนกับร้านขนมเจ้าอื่น ๆ อีกด้วย
ซึ่งความนิยมในตัว Peko ก็ดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดที่ในปี 1998 บริษัท Fujiya ได้นำ Peko ในเวอร์ชัน 3 มิติ จดทะเบียนเป็น “เครื่องหมายทางการค้า” อย่างเป็นทางการ
ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ Peko กลายเป็นแครักเตอร์ 3 มิติ “ตัวแรกของญี่ปุ่น” ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องหมายทางการค้า
ที่น่าสนใจคือ หลังจาก Fujiya ดำเนินกิจการมาได้ 55 ปี
ก็สามารถจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้สำเร็จ
โดยปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 18,000 ล้านบาท
ซึ่งกลุ่มธุรกิจของบริษัท Fujiya จะประกอบด้วย
ธุรกิจร้านขนมเค้ก ซึ่งถือเป็นเชนร้านขนมเค้กแห่งแรกของญี่ปุ่น
ด้วยจำนวนสาขามากกว่า 1,000 สาขา ที่มาพร้อมกับ Peko ที่ยืนรอทักทายทุกคนอยู่หน้าร้าน
และหนึ่งในสินค้ายอดนิยมก็คือ ครีมพัฟ Peko นั่นเองธุรกิจร้านอาหาร
ซึ่งมีอยู่ 5 แบรนด์ โดยหนึ่งในนั้น เป็นร้านที่มีการซื้อลิขสิทธิ์อันปังแมน มาคู่กับ Peko ด้วยธุรกิจขนม และเครื่องดื่มบรรจุขวด
ซึ่งวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ
โดยสินค้าหลายชิ้นจะมีหน้าของ Peko อยู่ด้วยธุรกิจต่างประเทศ โดยมีสินค้าหลัก ๆ ที่ส่งไปขายก็คือ ลูกอม Milky ที่มีรูป Peko เด่นชัดอยู่บนแพ็กเกจจิงธุรกิจแครักเตอร์ และสินค้าออนไลน์
ซึ่งทางบริษัทได้มีการขายลิขสิทธิ์ ของ Peko ให้กับบริษัทอื่น ๆ
เนื่องจาก Peko ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทในการโปรโมตสินค้าให้บริษัท Fujiya
Peko ยังเป็นหนึ่งในตัวละครขวัญใจใครหลายคน และมีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่
ทำให้บริษัทเล็งเห็นว่าน่าจะสามารถสร้างรายได้จาก Peko ได้
โดยผ่านการขายลิขสิทธิ์ หรือออกแบบสินค้าร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ
อย่างเช่น แบรนด์ Uniqlo ที่เคยออกคอลเลกชัน Peko อยู่หลายครั้ง
รวมถึงแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลี Holika Holika ที่เรียกเสียงฮือฮาจากลูกค้าชาวไทยได้ไม่น้อย แถมลิปสติกรุ่นที่ทำการคอลลาบอเรชัน ยังได้ฉายาจากลูกค้าชาวไทยว่า “ลิป Peko” อีกด้วย
จากข้อมูลด้านบนจะเห็นว่า Peko ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Fujiya อย่างแยกไม่ออก
และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Peko ยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้แบรนด์กลายเป็นที่จดจำในสายตาลูกค้า
เพราะหลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ Fujiya มาก่อนเลยด้วยซ้ำ
แต่กลับรู้จัก Peko หรือจำได้ว่าเคยเห็น Peko มาผ่าน ๆ ตาบ้างแล้ว
นี่ถือเป็นการตอกย้ำว่า ตัวละคร Peko ได้ช่วยให้สินค้า และแบรนด์ของบริษัท Fujiya “มีตัวตน” ขึ้นมา
แถม Peko ยังทำให้แบรนด์และสินค้าของ Fujiya ดูโดดเด่นและแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งอีกนับร้อย
ขณะเดียวกัน Peko ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ดูเป็นมิตร และเข้าถึงง่ายกว่าการสื่อสารผ่านโลโกที่ดูเป็นทางการ อีกทั้งตัวละครที่มีรูปร่างหน้าตาชัดเจนแบบ Peko ยังทำให้การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของภาษา เพราะถ้าหากบริษัทต้องการขายสินค้าในต่างแดนที่บางประเทศอาจไม่สะดวกเรียกชื่อแบรนด์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น แต่การมี Peko เข้ามาก็จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้จากใบหน้าของ Peko เป็นหลัก
ที่สำคัญคือ แบรนด์ยังไม่ต้องเสียเงินจ้างใครมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ยุ่งยาก
เพราะมี Peko ที่ผู้คนรู้สึกผูกพันมาแล้วหลายสิบปี แถมตัวละคร Peko ที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ยังไม่มีวันแก่ หรือสร้างข่าวเชิงลบได้อีกด้วย
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า Fujiya ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปั้นตัวละคร Peko ขึ้นมา จนถึงขนาดที่คุณ Rintaro Fujii อดีตประธานบริษัท Fujiya เคยกล่าวไว้ว่า
“Peko คือ ทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา” เลยทีเดียว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.