รู้จัก Tracy Chou จากอดีตเคยถูกบุลลี สู่ ผู้สร้างแอปป้องกันพวกบุลลี
Business

รู้จัก Tracy Chou จากอดีตเคยถูกบุลลี สู่ ผู้สร้างแอปป้องกันพวกบุลลี

1 เม.ย. 2022
รู้จัก Tracy Chou จากอดีตเคยถูกบุลลี สู่ ผู้สร้างแอปป้องกันพวกบุลลี /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปัญหาที่คนเอเชียมักพบเจอบ่อย ๆ ในสหรัฐฯ ก็คือความไม่เท่าเทียม, ถูกบุลลี, โดนเหยียดเชื้อชาติและสีผิว
ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่ในสหรัฐฯ เพียงที่เดียว แต่ถูกแทรกซึมอยู่ทั่วโลก และการบุลลีถูกทำให้ง่ายดายขึ้นด้วย “โซเชียลมีเดีย”
รู้หรือไม่ ตั้งแต่ปี 2014-2020 คนอเมริกันถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 5% กลายเป็น 11% รวมถึงการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ก็เพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14% เช่นกัน
และส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำคือ “ผู้หญิง”
ซึ่งบุคคลที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ ก็คือคุณ Tracy Chou ผู้ที่ต้องการหยุดภัยคุกคามทุกรูปแบบ บนโลกออนไลน์
โดยล่าสุด เธอก็เพิ่งถูกจัดอันดับ ให้อยู่ใน “Women of the Year” ปี 2022 จากนิตยสาร TIME
แล้วคุณ Tracy Chou จัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งและคุกคามบนโลกออนไลน์ นั่นก็คือ “Block Party” แอปพลิเคชันที่เราสามารถคัดกรอง “พฤติกรรมของผู้ใช้” ได้เอง โดยจะกรองเนื้อหาที่ข่มขู่ และถ้อยคำคุกคามบนโลกออนไลน์
ซึ่งคนอยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันนี้ก็คือคุณ Chou วิศวกรซอฟต์แวร์สาวชาวไต้หวัน-อเมริกัน วัย 35 ปี อดีตพนักงานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ อย่าง Pinterest และ Quora
แล้วอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออก มากำหนดเส้นทางอาชีพของตัวเอง ?
เรื่องนี้ก็เพราะ “การถูกคุกคาม”
เนื่องจากในอดีตคุณ Chou ถูกคุกคามทางโซเชียลมีเดียหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบุลลี, การเหยียดเพศ, การเหยียดสีผิว หรือแม้แต่การข่มขู่ทางเพศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรูปลักษณ์เชื้อสายเอเชียของเธอที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ในสังคมที่อาศัยอยู่
และสิ่งที่เลวร้ายมากกว่านั้นก็คือคุณ Chou ไม่ได้ถูกก่อกวนแค่บนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่กลับลุกลามมาจนถึงชีวิตจริง
เนื่องจากเธอโดนตามติดจากสตอล์กเกอร์ ที่ก่อกวนเธอมานานกว่า 6-7 ปี ซึ่งเหตุการณ์ก็เลวร้ายจนถึงขั้นย้ายเมืองตามเธอ จากลอนดอน มาถึงซานฟรานซิสโก เลยทีเดียว
ทำให้ในทุก ๆ ครั้งที่คุณ Chou จะเช็กอินที่ไหนสักแห่งบนทวิตเตอร์ ก็จะรู้สึกไม่ปลอดภัย และเสี่ยงที่จะเข้าใกล้กับความอันตรายขึ้นทุกที
แต่คุณ Chou ก็พบว่าไม่ใช่เธอคนเดียว ที่ประสบกับปัญหาการคุกคามเหล่านี้
เพราะหลังจากที่เธอเริ่มมาทำงานก็ได้พบว่า ยังมีผู้หญิงอีกหลายคน ที่ต้องรับมือกับการถูกคุกคามเช่นเดียวกัน
โดยเธอได้เริ่มรับรู้เรื่องนี้ จากตอนที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์นั่นเอง
ย้อนกลับไปตอนที่คุณ Chou ทำงานที่ Quora เว็บบอร์ดถาม-ตอบชื่อดังสัญชาติอเมริกัน เธอได้พบว่าประชากรกว่า 9 ใน 10 ของการถาม-ตอบ มาจาก “ผู้ชาย” เสียส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ใช้งานประจำ ที่เป็นผู้หญิงก็ค่อย ๆ หายไป
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเพราะว่า ผู้ใช้งานผู้หญิงมักจะเจอกับคำถามในเชิง “เหยียดเพศ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้พวกเธอเลิกใช้งานแพลตฟอร์มไปในที่สุด
ต่อมา เมื่อเธอย้ายไปทำงานที่ Pinterest เธอก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ อย่างจริงจังมากขึ้น
เริ่มจากเขียนบทความเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีออกมาเปิดเผย “จำนวนวิศวกรผู้หญิงที่ถูกจ้างงาน” เพื่อที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายในที่ทำงาน
นอกจากนั้นในปี 2016 เธอก็ได้ร่วมก่อตั้ง Project Include องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอที ให้มีความเท่าเทียม และไร้ซึ่งความเกลียดชัง
เมื่อเธอแสดงจุดยืนเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะชัดเจนขึ้น ก็ทำให้กลายเป็นที่รู้จัก จนมียอดติดตามบนทวิตเตอร์มากกว่า 100,000 บัญชี
แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยชื่อเสียงของเธอที่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นการบังคับให้คุณ Chou ต้องเผชิญหน้ากับทั้งสตอล์กเกอร์ และข้อความที่คุกคามมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ Pinterest ถูกคุณ Françoise Brougher อดีต COO ฟ้องร้องเรื่อง “การเลือกปฏิบัติทางเพศ”
ซึ่งในคดีความนี้ เพื่อที่จะยุติคดีความ Pinterest ยอมจ่ายเงินจำนวน 760 ล้านบาท
รวมถึงบริจาคเงินกว่า 85 ล้านบาทร่วมกับโจทก์ ให้กับองค์กรการกุศลที่สนับสนุนผู้หญิง และชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาสในด้านเทคโนโลยี
เรื่องราวเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้คุณ Chou มีไอเดียว่า มันจะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถสร้างแพลตฟอร์มที่จัดการกับพฤติกรรมคุกคามของผู้ใช้งานได้เอง
โดยในปีเดียวกันนี้ เธอจึงพัฒนาแอปพลิเคชัน Block Party ขึ้นมา
แล้วแอปพลิเคชัน Block Party ทำงานอย่างไร ?
Block Party เป็น API (Application Programming Interface) ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
โดยปัจจุบันยังเชื่อมได้แค่กับทวิตเตอร์เท่านั้น แต่ก็มีแผนที่จะพัฒนาสู่อินสตาแกรม และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในอนาคต
ซึ่งหากเราลิงก์แอปพลิเคชันนี้เข้ากับบัญชีทวิตเตอร์ของเราแล้ว แอปพลิเคชันก็จะบล็อกบัญชีที่ไม่ระบุตัวตน หรือที่เรารู้จักกันว่า “แอ็กหลุม” รวมทั้งบัญชีที่ส่งข้อความคุกคาม หรือเนื้อหารุนแรงทุกประเภทโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันจะไม่ได้ลบข้อความของบัญชีก่อกวน แต่จะซ่อนและเก็บข้อความของบัญชีเหล่านั้นไว้แทน
หากผู้ใช้ต้องการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้น ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ “Lockout Folder” หรือ “Helper View” ที่เสนอให้คนอื่นเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้นแทนได้
โดย Block Party จะเป็นบริการในรูปแบบฟรีเมียม ซึ่งหากต้องการได้การคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น ก็สามารถจ่ายเงิน 12 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม การจัดการกับบัญชีคุกคามก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ เพราะนอกจาก Block Party ก็ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่พยายามสร้างฟีเชอร์ใหม่ ๆ มาจัดการกับปัญหาคุกคามบนโลกออนไลน์เช่นกัน
อย่างอินสตาแกรมก็สร้างฟีเชอร์ “Limits” สำหรับระงับบัญชีที่ส่อแววล่วงละเมิด ส่วนทวิตเตอร์ ก็เริ่มระงับบัญชีที่มักใช้ถ้อยคำเกลียดชังชั่วคราว
แม้ว่าฟีเชอร์เหล่านี้จะมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่คุณ Chou ทำอยู่เป็นอย่างมาก และอาจกระทบกับผู้ใช้แอปพลิเคชัน Block Party ในอนาคต
แต่เธอกลับมองว่าการลอกเลียนแบบฟีเชอร์ที่ประสบความสำเร็จจากแอปพลิเคชันเล็ก ๆ เป็นนิสัยปกติของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทเล็กและใหญ่ คือ บริษัทใหญ่ ๆ มักให้ความสนใจกับ “การเติบโต” และ “การเข้าถึง” จำนวนมหาศาล
ดังนั้นคุณ Chou จึงมั่นใจว่า Block Party ที่โฟกัสเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งานตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถบริการลูกค้าได้ดีกว่า และจะสร้างรากฐานที่มั่นคงต่อไปได้
และในอนาคตคุณ Chou ก็หวังว่า Block Party จะกลายเป็นตัวกลางในการกรองความปลอดภัย ให้กับสังคมบนโลกออนไลน์ของทุก ๆ แพลตฟอร์ม ได้จบครบภายในที่เดียว
ถือว่า Block Party เป็นอีกหนึ่งทางออกของสังคมเป็นพิษบนโลกโซเชียล ที่ Win-Win-Win ทุกฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ใช้งาน” ที่สามารถควบคุมการรับรู้ได้เอง ไม่ต้องมาทนกับสิ่งที่จะบั่นทอนชีวิต
“แพลตฟอร์ม” กลายเป็นชุมชนที่น่าใช้งาน ดึงดูดให้คนมาใช้งานกันมากขึ้น
ส่วน “ผู้พัฒนา” ก็ไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหาเหล่านี้ และหันไปพัฒนาฟีเชอร์ด้านอื่น ๆ ที่จะมาตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.