สรุป สงครามแย่งหุ้น Hermès ระหว่างทายาทในตระกูล และเครือ LVMH
history

สรุป สงครามแย่งหุ้น Hermès ระหว่างทายาทในตระกูล และเครือ LVMH

22 เม.ย. 2022
สรุป สงครามแย่งหุ้น Hermès ระหว่างทายาทในตระกูล และเครือ LVMH /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ คนที่รวยสุดในโลก 4 อันดับแรก ทำธุรกิจเทคโนโลยีไปแล้วทั้งหมด 3 คน
แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจแบรนด์หรู
ซึ่งก็คือ คุณเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของ LVMH บริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์หรูที่ใหญ่สุดในโลก ที่มีแบรนด์ในเครือมากถึง 75 แบรนด์ เช่น Louis Vuitton, Christian Dior และ Celine
โดยปัจจุบัน LVMH มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 12 ล้านล้านบาท
แต่ที่น่าสนใจคือ บริษัทแบรนด์หรูที่ใหญ่รองลงมาจาก LVMH นั้น เป็นเจ้าของแบรนด์หรูใหญ่ ๆ เพียง 1 แบรนด์เท่านั้น ซึ่งก็คือ “Hermès” ที่ในปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทกว่า 5 ล้านล้านบาท
ซึ่งครั้งหนึ่ง LVMH ก็เคยพยายามที่จะไล่เก็บหุ้นของ Hermès เพื่อฮุบกิจการ จนหลายฝ่ายต่างจับตาว่า LVMH มีโอกาสสูงมากที่จะทำได้สำเร็จ
แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไรต่อไป ?
และสงครามแย่งหุ้น Hermès จบลงที่ใครเป็นผู้ชนะ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Hermès เป็นแบรนด์หรูที่มีอายุเก่าแก่ถึง 185 ปี
ก่อตั้งโดยคุณ Thierry Hermès ที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจจากร้านรับทำ “สายบังเหียนม้า” สินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้คนในสมัยนั้น เนื่องจากต้องเดินทางด้วยม้าเป็นหลัก
แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุด วิถีชีวิตของผู้คนก็ได้เปลี่ยนไป และผู้คนเริ่มเดินทางด้วยม้าน้อยลง ทำให้คุณ Émile Hermès ทายาทรุ่นที่ 3 ตัดสินใจต่อยอดธุรกิจเครื่องหนัง เข้าสู่ “วงการแฟชั่น”
หลังจากนั้นกิจการของ Hermès ก็ถูกส่งต่อให้คนภายในตระกูล จากรุ่นสู่รุ่น มาตลอดหลายร้อยปี
แม้กระทั่งในปัจจุบัน คนในตระกูล Hermès ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ และยังคงนั่งบริหารงานอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ
ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในตระกูล Hermès ยังคงรักษาธุรกิจของครอบครัวเอาไว้ได้ ก็เนื่องจากผลงานการบริหารที่น่าประทับใจ
อีกทั้งครอบครัวนี้ ก็ดูเหมือนจะรู้วิธีที่ดีที่สุด ในการรักษาคุณค่าของ Hermès ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แถมยิ่งเวลาผ่านไป Hermès ก็ดูเหมือนจะยิ่งมีมนตร์ขลังมากขึ้นเรื่อย ๆ
แน่นอนว่า ด้วยความล้ำค่าของ Hermès ทำให้ไม่ได้มีเพียงเครือญาติของ Hermès เท่านั้นที่ต้องการครอบครอง
เพราะคนนอกอย่าง คุณเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH ก็ต้องการจะเป็นเจ้าของสิ่งนี้เช่นกัน
ดังนั้นแผนการฮุบ Hermès ของคุณอาร์โนลต์ จึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2001 หรือก็คือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
โดยคุณอาร์โนลต์ เริ่มแอบเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของ Hermès ผ่านบริษัทย่อยในเครือ LVMH
และในขณะเดียวกัน ก็ยังใช้กลยุทธ์ “Cash-settled equity swaps” ที่ปกติแล้วจะเป็นสัญญาตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากหุ้นในอนาคต โดยที่เราไม่ต้องเป็นเจ้าของหุ้นตัวนั้นจริง ๆ แต่ไปตกลงทำสัญญาสวอปกับดีลเลอร์ นอกตลาดหลักทรัพย์แทน
ซึ่งวิธีนี้ยังมักจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ ในกรณีที่นักลงทุนต้องหลีกเลี่ยง การเปิดเผยความเป็นเจ้าของ
เรื่องนี้เอง จึงทำให้เหล่าทายาทในตระกูล Hermès ไม่ทันสังเกตว่าแผนการของเขาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 8 ปี
แทนที่เขาจะปิดสัญญาแลกเปลี่ยน ด้วยการรับเงินผลประโยชน์ เขากลับรับเป็นหุ้น Hermès
และตอนนี้เองที่เขาได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า “เขามีหุ้น Hermès ในมือมากถึง 17%”
ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายฝ่ายต่างก็มองว่า เขามีโอกาสที่จะฮุบกิจการของ Hermès ได้สำเร็จ
และถึงแม้ว่าคุณอาร์โนลต์จะยืนยันอย่างชัดเจนว่า การกว้านซื้อหุ้นทั้งหมดนี้ เป็นการมาอย่าง “เป็นมิตร” แต่ฝ่ายทายาทของ Hermès กลับไม่ได้คิดเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในปี 2011 เหล่าทายาท Hermès กว่า 50 คน จึงได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า “H51” ขึ้น แล้วรวบรวมหุ้น Hermès ที่ทุกคนถืออยู่ มารวมกันไว้ในนามบริษัท H51 แทนการถือแยกแต่ละคน เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ถือหุ้นใหญ่สุดไว้
ซึ่งในตอนนั้นพวกเขารวบรวมหุ้น Hermès ไว้ถึง 50.2% ของหุ้นบริษัท Hermès ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าในขณะนั้นกว่า 5 แสนล้านบาท
ในขณะเดียวกัน พวกเขายังทำสัญญาร่วมกันว่า “จะไม่ขายหุ้น Hermès ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า” หรือก็คือ จนกว่าจะถึงปี 2031 นั่นเอง
แต่ก็ไม่ใช่ทายาท Hermès ทุกคนจะสะดวกกับการนำหุ้นมารวมไว้ใน H51
เนื่องจากสองผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง คุณ Nicolas Puech ทายาทรุ่นที่ 5 ของ Hermès และในขณะนั้นเขาอายุ 68 ปี ส่วนอีกคนก็คือ คุณ Bertrand Puech ที่ในขณะนั้นอายุก็ปาไป 75 ปีแล้ว
ดังนั้นถ้าหากจะต้องรอเวลา 20 ปีกว่าจะขายได้ พวกเขาก็คงจะต้องอายุ 88 ปี และ 95 ปีกันแล้ว
แม้ว่าทั้งคู่จะไม่สะดวกกับการนำหุ้นมารวมไว้ใน H51 แต่แน่นอนว่า พวกเขาเห็นด้วยกับการต่อต้าน LVMH และยังได้ให้ “สิทธิในการปฏิเสธก่อน” (Right of First Refusal) กับสมาชิกในครอบครัว ในกรณีที่พวกเขาต้องการจะขายหุ้น
ส่วนทางด้าน LVMH ก็ยังคงเดินหน้าเก็บหุ้น Hermès จนเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็น 23.2%
เมื่อความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายดูจะหาทางลงได้ยาก ในที่สุดก็นำไปสู่การฟ้องร้องในชั้นศาล ระหว่าง LVMH และ Hermès ซึ่งกินระยะเวลาในการต่อสู้คดีนานถึง 4 ปี
สุดท้าย LVMH ก็ตกลงว่าจะไม่ซื้อหุ้น Hermès อีกเป็นเวลา 5 ปี
ส่วนหุ้น Hermès จำนวน 23.2% ที่อยู่ในมือ LVMH ก็จะต้องถูกนำมากระจายให้กับผู้ถือหุ้นของ LVMH
โดยผู้ที่ถือหุ้นของ LVMH ทุก ๆ 21 หุ้น จะได้รับหุ้น Hermès เป็นจำนวน 1 หุ้น
ซึ่งถ้าหากเราไล่เรียงรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ LVMH ณ ขณะนั้น ก็จะพบว่า
-บริษัทการลงทุนของครอบครัวอาร์โนลต์ Groupe Arnault หรือปัจจุบัน คือ Arnault Family ถือหุ้นอยู่ 5%
-บริษัท Christian Dior ถือหุ้นอยู่ 42%
ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของบริษัท Christian Dior ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ คุณอาร์โนลต์นั่นเอง
ดังนั้น แม้ว่าหุ้น Hermès จะถูกกระจายไปอยู่ในมือผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ
แต่อย่างน้อย ๆ คุณอาร์โนลต์ ก็ยังคงรักษาหุ้น Hermès ไว้ได้ 8.5%
แต่ต่อมาในปี 2017 คุณอาร์โนลต์ก็ได้ตัดสินใจขายหุ้น Hermès เป็นจำนวนมาก เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นบริษัท Christian Dior จากผู้ถือหุ้นที่เหลือในบริษัท เนื่องจากเขาต้องการนำบริษัท Christian Dior ไปรวมเข้ากับอาณาจักร LVMH อย่างสมบูรณ์
โดยผลจากการซื้อขายหุ้นในวันนั้น ทำให้ราคาหุ้นของ Hermès ตกลงกว่า 6%
ส่วนทางด้าน Christian Dior กลับเพิ่มขึ้น 13% และราคาหุ้น LVMH ก็บวกตามมาเกือบ 5%
สำหรับในปัจจุบัน คุณอาร์โนลต์ เหลือหุ้น Hermès ในมือไม่ถึง 2% และหันไปโฟกัสกับอาณาจักร LVMH ของเขา
บทสรุปของสงครามชิงหุ้น Hermès จึงจบลงเพียงเท่านี้
ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า นี่เป็นเพียงการพักยก ระหว่างสองเจ้าแห่งแบรนด์หรูเท่านั้น และหลังจากปี 2031 เราจะได้เห็นการเปิดฉากสงครามชิงหุ้น Hermès ครั้งใหม่หรือไม่ ?
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ “เลือด ย่อมข้นกว่า น้ำ”
สงครามแย่งหุ้น Hermès ในครั้งนี้ จบลงด้วยชัยชนะ จากฝั่งทายาทในตระกูล ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากความเป็นปึกแผ่นที่ชัดเจนของเหล่าทายาท จนทำให้คนนอกยากที่จะแทรกเข้ามาได้
แม้ว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะดูเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
แต่รอยร้าวเพียงนิดเดียว ก็อาจนำไปสู่การแตกหักได้
อย่างในกรณีของ Gucci และ LVMH ที่คนในตระกูลผู้ก่อตั้ง ต่างแย่งชิงอำนาจ และความเป็นเจ้าของในกิจการ จนสุดท้ายก็ต้องจบลง โดยไม่มีสมาชิกครอบครัวคนไหนได้เป็นเจ้าของ
ส่วนคุณอาร์โนลต์ที่เป็นเจ้าของ LVMH คนปัจจุบัน ก็เข้ามาครอบครองกิจการนี้ได้ เพราะคนข้างใน แตกหักกันเอง..
สำหรับใครที่อยากอ่านเรื่อง “มหากาพย์รอยร้าวของตระกูล Gucci”
สามารถอ่านต่อได้ในบทความนี้ https://www.longtungirl.com/5379
ส่วนใครที่สงสัยว่า บริษัท Christian Dior กลายมาเป็นของคุณอาร์โนลต์ ได้อย่างไร ?
บทความนี้มีคำตอบ https://www.longtungirl.com/4234
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.