ทำไม “เพชรสังเคราะห์” ที่ทำขึ้นใน “ห้องแล็บ” ถึงกำลังฮิตในกลุ่ม Gen Z
Business

ทำไม “เพชรสังเคราะห์” ที่ทำขึ้นใน “ห้องแล็บ” ถึงกำลังฮิตในกลุ่ม Gen Z

9 ธ.ค. 2022
ทำไม “เพชรสังเคราะห์” ที่ทำขึ้นใน “ห้องแล็บ” ถึงกำลังฮิตในกลุ่ม Gen Z /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า มีเพชรอยู่ชนิดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ของแท้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็น “เพชรปลอม”
สิ่งนี้เรียกว่า “เพชรสังเคราะห์” หรือ Lab-Grown Diamond
แถมยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นแหวนหมั้น แหวนแต่งงาน หรือซื้อใช้เอง
และแม้แต่แบรนด์เครื่องประดับอย่าง Pandora ก็ยังประกาศจะเลิกใช้เพชรแท้ และหันมาใช้เพชรสังเคราะห์แทนมาแล้ว
แล้วทำไม เพชรสังเคราะห์ ถึงกำลังได้รับความนิยม แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเพชรปลอมทั่ว ๆ ไป ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
เพชรสังเคราะห์ ที่กำลังพูดถึง คือ เพชรที่มีคุณสมบัติทางเคมี และหน้าตาเหมือนเพชรแท้ที่เกิดจากธรรมชาติทุกประการ จนแทบแยกไม่ออกด้วยตาเปล่า
เพียงแต่มันถูกสร้างขึ้นภายใน “ห้องแล็บ”
โดยเพชรสังเคราะห์เม็ดแรกเกิดขึ้นจาก การทดลองในห้องแล็บของบริษัท General Electric ในนิวยอร์ก ช่วงปี 1954 หรือเมื่อ 68 ปีที่แล้ว
ก่อนจะถูกพัฒนาจนได้เพชรสังเคราะห์ ที่มีคุณภาพเทียบเท่าเพชรแท้ และเข้ามาเป็นทางเลือกในตลาดอัญมณีจนถึงทุกวันนี้
แต่สำหรับในปัจจุบัน ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ของโลก กลับกลายเป็น “จีน” ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 90% รองลงมาเป็นอินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
แล้วทำไมเพชรสังเคราะห์ถึงมีคุณสมบัติเหมือนเพชรแท้ ?
เพชรสังเคราะห์ เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่จำลองภาวะต่าง ๆ ในห้องแล็บ ให้ใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของเพชรตามธรรมชาติ เช่น การใช้แรงดันสูง อุณหภูมิสูงจัด และการทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี
จนเกิดเป็นผลึกหน้าตาเหมือนเพชรขึ้นมาในห้องแล็บได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แทนที่จะต้องใช้เวลานับล้านปีเหมือนเพชรแท้
นอกจากนี้ เพชรสังเคราะห์ยังมีการแบ่งเกรด ด้วยเกณฑ์เดียวกันกับเพชรธรรมชาติ ซึ่งก็คือ “4Cs” ที่ได้แก่
1.Carat : กะรัต หรือน้ำหนักเพชร
2.Cut : เหลี่ยมการเจียระไน
3.Color : สี หรือ น้ำ เช่น เพชรน้ำ 100
4.Clarity : ความสะอาด เนื่องจากเพชรแท้ จะมีตำหนิตามธรรมชาติ
โดยเพชรสังเคราะห์มีหลายประเภท แตกต่างกันไปตามวิธีการผลิต
แต่กระบวนการที่นิยมใช้ทำเพชรสังเคราะห์ ที่ได้ผลลัพธ์เป็นเพชรที่มีคุณสมบัติเหมือนเพชรแท้ จะมี 2 แบบ คือ
High Pressure High Temperature (HPHT)
เป็นวิธีจำลองแรงกดดัน และอุณหภูมิความร้อน ให้เหมือนการเกิดขึ้นของเพชรใต้ดินตามธรรมชาติ เพื่อสังเคราะห์เพชรขึ้นมา
และ Chemical Vapor Deposition (CVD)
เป็นวิธีที่ใช้แก๊สคาร์บอน และทำให้อะตอมของคาร์บอนแตกตัวออกมาเป็นผลึกเพชร
แต่ทว่า เพชรสังเคราะห์เหล่านี้ จะไม่ถูกจัดว่าเป็น “เพชรเลียนแบบ” เหมือนกับพวกเพชร CZ (Cubic Zirconia) และมอยส์ซอไนต์ (Moissanite)
ซึ่งหนึ่งในจุดที่ทำให้เพชรเหล่านี้ แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือ “ความแข็ง”
โดยเพชรธรรมชาติ จะมีความแข็งอยู่ที่ 10
แต่เพชร CZ จะมีความแข็งอยู่ที่ 8.5
และมอยส์ซอไนต์จะอยู่ที่ 9.25
ส่วนเพชรสังเคราะห์ จากแล็บ จะมีความแข็งอยู่ที่ 10 เช่นเดียวกับเพชรธรรมชาติ ดังนั้น มันจะทนทานต่อการขีดข่วนได้ดีกว่า
คนจึงนิยมนำมาทำเป็นแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงาน
แล้วเพชรสังเคราะห์ได้รับความนิยมมากแค่ไหน ?
จากรายงานของ Bain & Company ระบุว่า ตลาดเพชรสังเคราะห์ จากห้องแล็บ เติบโตขึ้นประมาณ 15-20% ในปี 2019
ส่วนในปี 2022 บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมหลายแห่ง ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมเพชรสังเคราะห์ จะยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์กันว่า
ตลาดเครื่องประดับ ที่ใช้เพชรสังเคราะห์
จะเติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2025
หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 140,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ของตลาดเพชรสังเคราะห์ ก็คือ Millennials และ Gen Z ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของธุรกิจยุคใหม่
แต่ปัจจัยที่ทำให้หลายคนยอมจ่ายเงินให้กับเพชรสังเคราะห์
และยินดีที่จะสวมใส่เป็นเครื่องประดับ แบบกล้าบอกให้คนรู้ว่า ไม่ใช่เพชรแท้แบบไม่เคอะเขินก็คือ
-คุณสมบัติดี ในราคาที่จับต้องได้
จากคุณสมบัติของเพชรสังเคราะห์ที่แข็งแรงเหมือนเพชรแท้ ทำให้สามารถใช้งานได้ดีในฐานะของเครื่องประดับ แต่มีราคาต่ำกว่าเพชรแท้ราว 40-60%
-กระบวนการผลิตที่ (เชื่อว่า) ยั่งยืน และกระทบกับธรรมชาติ น้อยกว่าการทำเหมืองเพชร
ซึ่งตรงกับค่านิยมความยั่งยืนที่กลุ่ม Millennials และ Gen Z ให้ความสำคัญเอามาก ๆ ทำให้หันมาเลือกใช้เพชรสังเคราะห์แทน
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีข้อมูลที่ค้านว่า มันอาจไม่ได้รักษ์โลกขนาดนั้น เพราะการสร้างเพชรในห้องแล็บจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เพชรสังเคราะห์เหล่านี้ ก็ยังถูกมองเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต เพื่อทดแทนเพชรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงไปทุกที
รวมไปถึง ยังมีความหวังว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนากระบวนการผลิตเพชรที่ดีต่อโลกได้มากกว่านี้
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้เพชรสังเคราะห์ถูกมองเป็นโอกาสทางธุรกิจของแบรนด์ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่
อย่างเช่น Pandora ที่หันมาลุยตลาดเพชรสังเคราะห์ตั้งแต่ปี 2021 แถมยังออกคอลเลกชันต่าง ๆ ที่ชวนให้ซื้อมาสับเปลี่ยนได้บ่อย ๆ หรือเหมาะกับการซื้อเป็นของขวัญที่ดูหรูหราแต่ราคาเป็นมิตร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เพชรสังเคราะห์ไม่มีทางให้ได้แบบเพชรแท้
ก็คือมูลค่าในตัวเอง โดยเพชรสังเคราะห์ไม่สามารถขาย หรือจำนำในลักษณะของการลงทุนได้
แถมยังมีมูลค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะมันสามารถผลิตเพิ่มได้ไม่จำกัด
ต่างจากเพชรธรรมชาติ ที่นับวันยิ่งหาได้น้อยลง
แถมยังมีมูลค่าเพิ่ม ตามความต้องการของตลาดด้วย
ดังนั้น หากใครที่ชื่นชอบเพชร ในแง่ของความสวยงาม
และไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าในอนาคต
เพชรสังเคราะห์ก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
แต่หากมองเพชรเป็นการลงทุนสำหรับในอนาคต
แน่นอนว่า เพชรธรรมชาติ ก็จะสามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่า
ดังนั้น เพชรสังเคราะห์ และเพชรธรรมชาติ จึงไม่ได้เกิดมาเพื่อทดแทนกันและกัน
เพียงแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ที่มีความชอบและจุดประสงค์ที่ต่างกันนั่นเอง..
--------------------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค

https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
--------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.