The Coffee Club ร้านกาแฟ หมื่นล้าน
Business

The Coffee Club ร้านกาแฟ หมื่นล้าน

3 พ.ย. 2020
The Coffee Club ร้านกาแฟ หมื่นล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ย้อนกลับไปในปี 1989 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย
ณ ที่แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นร้านกาแฟสาขาแรกของ “The Coffee Club”
ก่อตั้งโดยคุณ Emmanuel Kokoris และคุณ Emmanuel Drivas 
โดยในคืนวันหนึ่ง พวกเขาทั้ง 2 คน พยายามหาร้านกาแฟดีๆ สักแห่ง
แต่ก็พบว่าในเมืองบริสเบนไม่มีร้านกาแฟแห่งไหนเลย ที่เปิดให้บริการช่วงกลางดึก
หลังจากที่พลาดการดื่มกาแฟในคืนนั้น
พวกเขาทั้งสองได้เปลี่ยน “ความผิดหวัง” ให้กลายเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ
พวกเขาได้สร้าง The Coffee Clubให้เป็นร้านกาแฟที่ดูหรูหรามีสไตล์
แต่ยังให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สามารถนัดพบเพื่อนๆ มาพูดคุยได้โดยที่ไม่รู้สึกเกร็งหรืออึดอัด
และจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างเลยก็คือ เวลาเปิดปิดร้าน 
ซึ่งในบางสาขา ก็เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
โดยให้บริการทั้งเมนูกาแฟ และอาหาร เพื่อรองรับลูกค้าได้ตลอดเวลา
ทั้งลูกค้าที่แวะมาทานอาหารมื้อดึก หรือลูกค้าที่แวะมาซื้อกาแฟ สำหรับทำงานในช่วงกลางคืน
หลังจากก่อตั้งไปประมาณ 1 ปี
The Coffee Club ก็มีผู้ร่วมงานคนใหม่ที่ชื่อว่า John Lazarou
โดยเข้ามาช่วยดูแลเรื่อง การประชาสัมพันธ์ และการตลาด
จนทำให้ชื่อของ The Coffee Club กลายเป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในออสเตรเลีย 
ปัจจุบัน The Coffee Club มีการขยายมากกว่า 400 สาขา ใน 10 ประเทศทั่วโลก
โดยอยู่ภายใต้บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
เครือโรงแรมสัญชาติไทยรายใหญ่ของโลก และเจ้าของเชนธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ของเอเชีย
ผ่านการถือหุ้น โดยไมเนอร์ ฟู้ด ที่สัดส่วน 70%
แล้ว The Coffee Club ขายดีแค่ไหน?
เราลองมาดูรายได้ของ เดอะ คอฟฟี่ คลับ อินเตอร์เนชั่นแนล 
ปี 2560 รายได้ 14,637 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 13,676 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 14,682 ล้านบาท
แม้รายได้จะดูคงที่ แต่ถ้าดูยอดขายเฉพาะ The Coffee Club ในประเทศไทย
จะพบว่า เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 27.7% ต่อปี
ปี 2560 รายได้ 647 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 877 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,055 ล้านบาท
แล้ว The Coffee Club ใช้กลยุทธ์อะไรในการบริหารธุรกิจ?
แม้ว่าแบรนด์ The Coffee Club จะเริ่มก่อตั้งมาหลายสิบปีแล้ว
แต่สำหรับสาขาในประเทศไทย The Coffee Club ยังถือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ The Coffee Club จะต้องเร่งทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก
หนึ่งในวิธีที่ The Coffee Clubใช้ก็คือ “ขยายสาขา” 
ทั้งการเปิดร้านเอง การขายแฟรนไชส์ และการลงทุนร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เช่น โตโยต้า และแสนสิริ
โดยเฉพาะวิธีสุดท้าย ก็น่าจะช่วยให้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์อื่น
รู้จักและคุ้นเคยกับชื่อ The Coffee Club มากขึ้นด้วย
ในขณะเดียวกัน The Coffee Club ยังปรับให้บางสาขาเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสาขาที่มีอยู่แล้ว
ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ในปี 2019 The Coffee Club ก็ยังมีการรุกไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น เวียดนาม, ลาว และซาอุดีอาระเบีย 
โดยเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นการรับมือกับความท้าทายที่ The Coffee Club กำลังเผชิญอยู่
เนื่องจากฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดของ The Coffee Club อยู่ในออสเตรเลีย
แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับมีสาขาในออสเตรเลีย ที่ทยอยปิดตัวไปจำนวนมาก
ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลัก ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ที่กำลังชะลอตัว
โดยถ้าดูจากอัตราการเติบโตของ GDP จะพบว่า
ในปี 2019 เศรษฐกิจของออสเตรเลีย โตเพียง 1.9% 
ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโต ที่น้อยสุดในรอบ 27 ปี
เรื่องนี้ทำให้บริษัทแม่อย่างไมเนอร์ ตัดสินใจปรับโครงสร้างร้านอาหารในเครือ
โดยการลดจำนวนสาขาภายในประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้สอดรับกับการบริโภคในประเทศ 
แต่ในอีกด้าน ก็เร่งขยายสาขาและยอดขายในประเทศอื่นมาทดแทน
อ่านมาถึงตรงนี้ The Coffee Club ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษา ที่น่าสนใจ
ธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดหวังเล็กๆ ที่ไม่สามารถหาร้านกาแฟได้ในค่ำคืน
แต่ตอนนี้กลับแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจหลักหมื่นล้าน
ในบางครั้ง ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ 
อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากสิ่งที่คนอื่นทำตามกันเสมอไป
เพราะในบางครั้ง เรื่องที่ไม่มีใครสนใจ 
อาจจะไปตอบโจทย์ใครหลายคนได้เช่นกัน
References:
-https://www.thecoffeeclub.co.nz/about-us/history/
-https://www.coffeeclub.com.au/about-us/
-https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/877535
-https://www.minorfood.com/th/our-business/the-coffee-club
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG
-รายงานประจำปี 2562 ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
-แบบฟอร์ม 56-1 ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.