เปิดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์กาแฟภายใน 2 เดือน ของ Katanyu Coffee
Business

เปิดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์กาแฟภายใน 2 เดือน ของ Katanyu Coffee

2 ก.พ. 2021
Katanyu Coffee แบรนด์กาแฟ ที่เกิดจากวิกฤติโควิด /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในวันที่ร้านกาแฟกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน
กลับมีร้านกาแฟที่สามารถโดดเด่นออกมาจากร้านอื่นๆ ซึ่งก็คือ Katanyu Coffee 
ที่น่าสนใจคือ หลังจากเปิดมาได้เพียง 2 เดือนแบบไม่มีหน้าร้านด้วยซ้ำ
ก็สามารถทำรายได้รวมถึงหลักล้านบาท 
และจุดเริ่มต้นของ Katanyu Coffee ยังเป็นบริษัทเอเจนซี 
ที่ไม่มีความรู้ด้านกาแฟอย่างลึกซึ้งมาก่อน
ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณกตัญญู สว่างศรี 
หรือคุณยู เจ้าของ Katanyu Coffee ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาทางเพจ
แล้วจากบริษัทเอเจนซี กลายมาเป็นร้านกาแฟได้อย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะแชร์ให้ฟัง
Katanyu Coffee เป็นร้านกาแฟชื่อดังในย่านบรรทัดทอง
และชื่อนี้เองก็เป็นชื่อเดียวกันกับเจ้าของร้าน นั่นก็คือคุณกตัญญู สว่างศรี หรือคุณยู 
ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อ และยังเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟนอันดับต้นๆ ของเมืองไทย 
ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว คุณยูเริ่มต้นทำงานอยู่ในแวดวงนิตยสาร
และก็วนเวียนอยู่ในวงการนี้มาโดยตลอด รวมทั้งได้ทำงานกับบริษัทดังๆ มาอย่างโชกโชน
จนปี พ.ศ. 2560 ที่เขาตัดสินใจเปิดเอเจนซีเป็นของตัวเอง 
ในชื่อว่า Katanyu86 ที่รับทำโฆษณา คิดคอนเทนต์ให้กับองค์กรใหญ่ๆ 
แต่ด้วยพิษจากโควิด 19 จึงทำให้เอเจนซีของเขาได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส
ที่ทำให้งานบางส่วนต้องชะลอตัวลง และปริมาณการจ้างงานที่ลดน้อยลง
ดังนั้น เขาจึงเริ่มหาวิธีที่จะทำให้บริษัทของเขาอยู่รอดจากพิษเศรษฐกิจในยุคนี้..
ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับช่วงหลังๆ เขาได้จัดรายการพอดแคสต์ค่อนข้างเยอะ
ทำให้เกิดไอเดียและแรงบันดาลใจในการ “ปรับตัวของธุรกิจ”
เขาจึงตัดสินใจไม่ยอมอยู่เฉย หรือรอคอยความเสี่ยงในอนาคต 
และเริ่มนำไอเดียการทำธุรกิจในตำราต่างๆ มาปรับใช้กับบริษัทของเขา
เรามาดูกันค่ะว่า กว่า Katanyu Coffee จะมาเป็นรูปเป็นร่างในวันนี้ ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง
อันดับแรกคือ “การระดมความคิด”
หลังจากการ Work From Home กว่า 2 สัปดาห์
คุณกตัญญูก็เรียกรวมพลพนักงานในออฟฟิศทั้งหมด มาแลกเปลี่ยนไอเดียในการ “แตกไลน์ธุรกิจ”
เริ่มจากการปรับทัศนคติกับพนักงานให้ลืมไปก่อนว่าตัวเองเป็นเอเจนซี 
แล้วถ้าจะเป็นอะไรก็ได้ จะอยากเป็นอะไร
ซึ่งพนักงานทุกคนก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เสนอไอเดียกันมากมาย 
และสุดท้ายก็ได้ผลโหวตเป็นมติเอกฉันท์ที่ “ร้านข้าวแกงกะหรี่หมูทอด” 
คุณยูและพนักงานทุกคนก็เริ่มพัฒนาสูตร และออกแบบโลโก้ทันที 
แต่ก่อนวันที่จะเริ่มทดลองทำร้านหมูทอดกันอย่างจริงจัง 
เขากลับสังเกตเห็นว่า ที่ตั้งออฟฟิศของเขา มันไม่เข้ากับร้านหมูทอดเลย
เรื่องนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า “การปรับเปลี่ยนธุรกิจ ก็ควรจะสอดคล้องกับการทำงานของบริษัท” ด้วยเช่นกัน ทำให้โพรเจกต์ข้าวแกงกะหรี่หมูทอด ต้องถูกพับทิ้งไป 
แล้วจุดเริ่มต้นของร้าน Katanyu Coffee เริ่มที่ตรงไหน? 
คุณยูเป็นคนที่ชอบ “การดริปกาแฟ” อยู่แล้ว
และยังมักจะชงให้พนักงานของเขาด้วย ซึ่งทุกคนก็ต่างชื่นชอบกาแฟที่เขาทำ
เขาจึงเกิดความคิดว่าทำไมถึงไม่ขายสิ่งที่เขาถนัดและทำได้ดี
ดังนั้นจุดเริ่มต้นของร้านขายกาแฟ Katanyu Coffee จึงได้เริ่มต้นขึ้น
ที่น่าสนใจคือคุณยูได้นำหลักการ “คิดเร็ว ทำเร็ว” มาใช้
พอตัดสินใจว่าจะเริ่มธุรกิจกาแฟ เขาก็ลงมือทำทันที
โดยเริ่มหาความรู้จากคนรู้จักในแวดวงกาแฟ 
ซึ่งก็พอดีกับที่เขารู้จักคุณอายุ จือปา เจ้าของแบรนด์ Akha Ama 
ร้านกาแฟชื่อดังจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถขยายสาขาไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น
เขาจึงขอคำแนะนำจากคุณอายุ เรื่องกระบวนการผลิตกาแฟ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น
รวมถึงยังซื้อเมล็ดกาแฟของ Akha Ama ด้วย
คุณยูเริ่มต้นจากการผลิตกาแฟ “Katanyu cold brew” หรือกาแฟสกัดเย็น 
จากห้องครัวเล็กๆ ที่บ้าน และขายแบบดิลิเวอรีก่อน
โดยกาแฟลอตแรก คุณยูก็เลือกส่งให้กับคนที่รู้จักและเพื่อนฝูง
ซึ่งการที่เขาทำงานอยู่ในวงการสื่อมาก่อน จึงทำให้ได้รู้จักกับเหล่าคนที่มีชื่อเสียง 
อย่างเช่น นิ้วกลม, คุณบูม บูม ธริศร, และคุณเคน นครินทร์
Katanyu cold brew จึงเหมือนได้รับการโปรโมตไปในตัว
ผลที่ตามมาจึงทำให้ Katanyu cold brew ได้ผลตอบรับที่ดีมาก
จากลอตแรกที่ผลิตไปไม่ถึง 20 ขวด สามารถทำออเดอร์กลับมาได้เกือบ 100 ขวด 
และยังสามารถทำรายได้รวมถึง 1 ล้านบาท ภายใน 2 เดือนแรกอีกด้วย
เมื่อออเดอร์เพิ่มมากขึ้น กำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน 
คุณยูจึงตัดสินใจปรับปรุงออฟฟิศชั้นล่าง ให้กลายเป็นโรงงานหมักกาแฟอย่างจริงจัง 
ระหว่างนั้นเอง เจ้าของพื้นที่เช่าออฟฟิศได้มาบอกว่าทำเลด้านหลังออฟฟิศว่างอยู่ และเหมาะมากที่จะเปิดเป็นร้านกาแฟ
คุณยูจึงไม่รอช้าอีกเช่นเคย เขาใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือน ร้าน “Katanyu Coffee” ก็เปิดให้บริการ 
แล้วกาแฟ Katanyu Coffee โดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างไร?
ข้อแรก คือ “การสื่อสารกับลูกค้า”
เนื่องจากเรื่องของคุณภาพกาแฟ เป็นสิ่งพื้นฐานที่แบรนด์ทั่วไปต้องมีอยู่แล้ว
ซึ่ง Katanyu Coffee เองก็ทำได้ดีอยู่แล้ว ทั้งการใช้เมล็ดกาแฟและกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ
แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ Katanyu Coffee กลับเป็นการที่มีประสบการณ์ด้านเอเจนซีมาก่อน
ซึ่งทำให้เขามีต้นทุนด้าน “ความคิดสร้างสรรค์” และ “การสื่อสารกับลูกค้า”
ดังนั้น Katanyu Coffee จึงสามารถสื่อสารระหว่างลูกค้าให้ดูสนุกที่สุด
เริ่มคอนเซปต์ของเมนูซิกเนเชอร์แต่ละเมนู
อย่าง Katanyuzu และ Mother ก็จะมีชื่อที่ล้อไปกับความ “กตัญญู” ที่มาจากชื่อที่ร้าน 
และคุณยูก็ใช้โอกาสจากเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ ในการเล่าเรื่องธุรกิจ
ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองและเพื่อนๆ อินฟลูเอนเซอร์
ทำให้คนรู้สึกสนใจ และรู้สึกสนิทกับแบรนด์มากขึ้น
ซึ่งการสื่อสารนี้ ก็ถือว่าเป็น “Earned media” ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ 
เพราะอย่างช่วงล็อกดาวน์ ก็มีคนสั่งซื้อกาแฟดิลิเวอรีจำนวนมาก
แต่พอกลับมาเปิดหน้าร้านได้ ก็มีคนแวะเวียนมาที่ร้านอย่างไม่ขาดสาย
อีกหนึ่งผลพลอยได้ ก็คือ เรื่อง “ทำเลที่ตั้ง”
โดย Katanyu Coffee ตั้งอยู่ที่บรรทัดทอง ย่านชุมชนเก่า 
ที่อุดมไปด้วยร้านอาหารท้องถิ่นใจกลางเมือง
พอประกอบกับการตกแต่งร้านที่มีกลิ่นอายธรรมชาติ
จึงกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดลูกค้า เหมือนการหลบออกจากชีวิตในเมืองที่วุ่นวาย
แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท จะยังมาจากงานฝั่งเอเจนซีอยู่
แต่การปรับตัวทำร้านกาแฟในครั้งนี้ ก็ทำให้เขาเรียนรู้หลายเรื่อง
ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลดี ให้กับการพัฒนางานฝั่งเอเจนซีไปด้วย
การสร้างแบรนด์ Katanyu Coffee ขึ้นมา จึงเป็นเหมือนการนำทฤษฎีที่เขาเรียนรู้มาตลอด
มาทำให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ เริ่มตั้งแต่สร้างแบรนด์ และบริหารจัดการเองทั้งหมด
และในอีกมุมหนึ่ง ก็เหมือนเป็นการยืนยันว่า 
การพัฒนาแบรนด์โดยเอเจนซีของคุณยู สามารถประสบความสำเร็จได้จริงในโลกธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ความฝันของคุณยูกับ Katanyu Coffee ก็ยังไม่หมดเท่านี้นะคะ
เพราะจริงๆ แล้ว เขาอยากให้กาแฟ Katanyu cold brew เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง
กลายเป็นสินค้าที่วางขายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ อย่าง 7-Eleven 
คุณยูเล่าว่ากว่าจะถึงจุดนั้น Katanyu Coffee ยังต้องพัฒนาและใช้เงินทุนอีกจำนวนมาก
ซึ่งเขาและทีมงาน ก็กำลังศึกษาเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง
สำหรับคนที่สักวันหนึ่งอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง 
เรื่องราวของ Katanyu Coffee ก็เป็นตัวอย่างที่ดี
ตามแบบฉบับของคำว่า “เริ่มให้เล็ก และผิดพลาดให้เร็ว”
คุณยู เริ่มต้นด้วยการเลือกวิธีที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด 
และถ้าไปต่อไม่ได้ ก็รีบยกเลิกให้เร็วที่สุด 
แต่ก็ไม่ลืมที่จะหาหนทางและวิธีใหม่ๆ ที่จะปรับตัว
อย่างตอนแรกที่เริ่มขายกาแฟแบบดิลิเวอรี ถ้าไม่สำเร็จก็แค่มองว่า
มันคือการทำกาแฟ และแบ่งกันกินในบริษัทแทน
แต่พอมันเริ่มมีทางไปจึง จึงค่อยๆ ขยับขยายกลายเป็นหน้าร้านที่ต้องใช้การลงทุนเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า
ในวันที่มีวิกฤติ มันก็อาจทำให้เกิดความคิดสร้างธุรกิจใหม่ๆ
ซึ่งถ้าไม่มีวิกฤติโควิด 19 เกิดขึ้น ก็คงจะไม่มีแบรนด์กาแฟ Katanyu Coffee ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้..
I References
- สัมภาษณ์ตรงกับคุณกตัญญู สว่างศรี เจ้าของร้านกาแฟ Katanyu Coffee
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.