Dropee แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ ที่ระดมทุนได้เกือบ 300 ล้าน
Business

Dropee แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ ที่ระดมทุนได้เกือบ 300 ล้าน

7 ก.พ. 2022
Dropee แพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ ที่ระดมทุนได้เกือบ 300 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในยุคที่ตลาดออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อขายสินค้า
ธุรกิจแทบจะทุกประเภท ต้องปรับตัวให้เข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อความอยู่รอด
โดยในปี 2020 ตลาด E-commerce มีมูลค่าอยู่ที่ 244 ล้านล้านบาท
และคาดว่าจะโตถึง 617 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5 เท่า ภายในระยะเวลาอีก 6 ปี
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมาทำร้านค้าบนโลกออนไลน์นั้น ก็มีความต่างจากการเปิดหน้าร้านแบบดั้งเดิมอยู่ไม่น้อย
ฉะนั้นหากมีโซลูชันที่สามารถเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการ ทำงานได้ง่ายขึ้น ก็น่าจะยิ่งช่วยให้
ตลาดนี้สามารถเติบโตไปได้มากขึ้นอีก
Dropee แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซจากมาเลเซีย จึงเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัป
ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนตลาด E-commerce ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยการเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้ง่ายขึ้น
แล้ว Dropee ใช้วิธีไหนในการช่วยผู้ประกอบการ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Dropee มาจากคุณ Lennise Ng และคุณ Aizat Rahim
ที่น่าสนใจคือ ถ้าเราพูดถึงเทคสตาร์ตอัป ตัวผู้ก่อตั้งก็น่าจะเรียนจบจากด้านเทคโนโลยี แต่คุณ Lennise Ng กลับเรียนเกี่ยวกับด้านดนตรี ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติ ในกัวลาลัมเปอร์
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเธอเติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้เธอต้องช่วยธุรกิจที่บ้าน
ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบ B2B (Business-to-Business)
แน่นอนว่าการทำธุรกิจลักษณะนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทำให้กระบวนการทำงานแบบดั้งเดิม ไม่สามารถนำมาใช้ทำงานได้อีกต่อไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Lennise Ng จึงตัดสินใจที่จะแก้ปัญหานี้ และก่อตั้ง Dropee ขึ้นในปี 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือเหล่าธุรกิจขนาดเล็ก ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วลักษณะธุรกิจของ Dropee ทำงานอย่างไร ?
Dropee เป็นมาร์เก็ตเพลซ ที่ช่วยให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกในท้องถิ่น สามารถหาคู่ค้า
หรือซัปพลายเออร์ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ และในขณะเดียวกันก็มีระบบช่วยจัดการ
คลังสินค้าเพื่อให้ผู้ใช้งานสะดวกมากที่สุด
มากไปกว่านั้น Dropee ยังมีระบบช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์
เช่น สินค้าแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม หรือกลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนกำลังเติบโต โดยอาศัย AI หรือ Artificial Intelligence ในการประมวลข้อมูล และเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละคน รวมถึงยังมีระบบช่วยเหลือผู้ใช้งาน ตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งซื้อไปจนถึงการชำระเงิน
สิ่งที่น่าสนใจของ Dropee คือ นอกเหนือจากการให้บริการ ด้านการจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการแล้ว ตัวแพลตฟอร์มยังมีบริการด้านสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือเหล่า SME ที่อาจจะประสบปัญหาการเงิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า
แล้ว Dropee ต่างจากแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซ อื่นอย่างไร ?
แน่นอนว่าในท้องตลาดปัจจุบัน ย่อมมีแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
แต่ในขณะที่ระบบขนส่งของแต่ละพื้นที่ จะมีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้แม้จะเป็นมาร์เก็ตเพลซในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถบริหารงานเหมือนกันได้หมด
Dropee จึงเน้นเฉพาะการทำตลาด ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลาย ๆ บริษัทมองว่า เป็นตลาดแห่งอนาคต เพราะอัตราการเติบโตของตลาดสูงมาก โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์
หากลองอ้างอิงข้อมูลจาก Statista เกี่ยวกับอัตราการเติบโตของยอดขาย
ค้าปลีกจาก E-commerce ในปี 2020 จะพบว่า สิงคโปร์ มีอัตราการเติบโตถึง 73.6% ซึ่งมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในแถบยุโรป
นอกจากนี้คุณ Rajiv Biswas นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากบริษัทวิจัย IHS Markit ยังพูดถึงตลาดนี้ว่า
ในตอนที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจต้องย้ายหน้าร้าน จากออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ ทำให้การมาถึงของ Dropee เข้ามาช่วยให้ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกทำงานง่ายขึ้น
และนำไปสู่รายได้ของ Dropee ที่เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน Dropee ให้บริการในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภค อย่างอาหารและเครื่องดื่ม
และมี SME ที่อยู่ในการดูแลมากถึง 80,000 ราย รวมถึงมีเงินหมุนเวียนอยู่บนแพลตฟอร์ม มากกว่า 3,338 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งที่ผ่านมา Dropee ระดมทุนไปได้แล้วกว่า 295 ล้านบาท
โดยในรอบล่าสุด Dropee ก็ได้ Vynn Capital เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่ลงทุนใน Carsome สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี และยูนิคอร์นรายแรกของมาเลเซียอีกด้วย
ส่วนเงินที่ระดมทุนมาได้ในครั้งนี้ ก็จะถูกนำไปพัฒนาระบบ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ให้สามารถดำเนินงานบนออนไลน์ได้ด้วยเงินทุนที่ต่ำ และให้การสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มขึ้น
เพื่อช่วยยืดอายุการทำธุรกิจให้ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทยนั้น หากกล่าวถึง E-commerce ส่วนใหญ่แล้ว เราก็อาจจะนึกถึงภาพแพลตฟอร์มค้าปลีก ที่เป็น B2C (Business-to-Customer) แต่กลับไม่ค่อยมีมาร์เก็ตเพลซ ที่เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างธุรกิจให้เห็นเท่าไรนัก
ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องไปนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสามารถใช้วัตถุดิบจากในประเทศได้ ซึ่งเมื่อคำนวณต้นทุนทุกอย่างแล้ว อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยเพื่อนผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน
เรียกได้ว่า ถึงแม้โมเดลธุรกิจของ Dropee จะไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่ก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย และควรที่จะได้รับการสนับสนุน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.