กรณีศึกษา Nebula สตรีมมิงโดยครีเอเตอร์ ที่มีมูลค่า 1,700 ล้าน
Business

กรณีศึกษา Nebula สตรีมมิงโดยครีเอเตอร์ ที่มีมูลค่า 1,700 ล้าน

11 พ.ค. 2022
กรณีศึกษา Nebula สตรีมมิงโดยครีเอเตอร์ ที่มีมูลค่า 1,700 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อธุรกิจเดิมเติบโตมาได้ระยะหนึ่ง ผู้บริหารก็มักจะต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิม สู่อีกหนึ่งความสำเร็จ
โดยบริษัทที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ คือ Nebula สตรีมมิงคอนเทนต์จากครีเอเตอร์ ที่สร้างขึ้นมาเพียง 3 ปี แต่สามารถสร้างฐานสมาชิกที่ชำระเงิน ได้กว่า 350,000 บัญชี
Nebula ทำงานอย่างไร และน่าสนใจแค่ไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Nebula ก่อตั้งโดยคุณ Dave Wiskus ในปี 2019
โดยคุณ Wiskus เป็นเจ้าของบริษัทเอเจนซีที่ชื่อว่า Standard ซึ่งทำงานร่วมกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผลิตผลงานในรูปแบบวิดีโอและพอดแคสต์ เพื่อการศึกษาหรือแนวให้ความรู้ และส่งผลงานสู่ผู้สนับสนุนหรือแพลตฟอร์มที่ต้องการ
ในเมื่อมีคอนเทนต์และผู้ผลิตคอนเทนต์อยู่ในมือ
คุณ Wiskus จึงได้ต่อยอดออกมาเป็นแพลตฟอร์มของตัวเอง ที่ชื่อว่า Nebula
Nebula คือผู้ให้บริการสตรีมมิงวิดีโอและพอดแคสต์ ที่ผู้ชมต้องจ่ายค่าบริการแบบรายเดือนเพื่อเข้าชม แลกกับการไม่ต้องเจอโฆษณาคั่นรายการ รวมถึงคอนเทนต์พิเศษที่มีเฉพาะบนแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็เหมือน Netflix เพียงแต่คอนเทนต์บน Nebula จะมาจากเหล่าครีเอเตอร์ชื่อดัง แทนที่จะเป็นค่ายภาพยนตร์หรือซีรีส์ทั่วไป
ตัวอย่างเช่น
Marques Brownlee ที่มีผู้ติดตาม 15.6 ล้านบัญชีบน YouTube โดยเป็นที่รู้จักในแวดวงเทคโนโลยี
หรือ RealLifeLore ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือตั้งสมมติฐานว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร โดยเอาหลักการที่น่าเชื่อถือมาประกอบ ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ติดตาม 5.7 ล้านบัญชีบน YouTube
ซึ่งคอนเทนต์บน Nebula ก็จะมีทั้ง คอนเทนต์ปกติที่เหล่าครีเอเตอร์ลงในช่องทางส่วนตัวอยู่แล้ว แต่บางคลิปก็จะเพิ่มความพิเศษเป็น Nebula Plus หรือที่มีฟุตเทจและเบื้องหลังการถ่ายทำแทรกเพิ่มเข้ามา
และ Nebula Originals ซึ่งจะเป็นคอนเทนต์ที่มีเฉพาะใน Nebula โดยจะเป็นการผลิตจากทางฝั่งบริษัท Standard ซึ่งดำเนินงานในด้านนี้อยู่แล้ว
รวมถึงยังมีฟีเชอร์ใหม่อย่าง Nebula Classes แหล่งหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ ที่ทางบริษัทจะให้ครีเอเตอร์ที่อยู่ในสังกัด ผลิตคอนเทนต์ที่เป็นบทเรียน เน้นจับกลุ่มคนที่ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ค้นหาแพสชันใหม่ ๆ และต้องการได้ข้อมูลเชิงลึกจากเหล่าครีเอเตอร์ชื่อดัง
อ่านมาถึงตรงนี้ Nebula จึงถือเป็นส่วนเติมเต็มให้กับธุรกิจเดิมของคุณ Wiskus เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ Nebula จะมีการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่ง ให้กับเหล่าครีเอเตอร์ด้วย โดยวัดจากเวลาในการรับชม ทำให้เจ้าของคอนเทนต์ รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม
ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้เปิดกว้างให้ใครก็ได้มาทำคอนเทนต์บน Nebula
แต่ต้องเป็นครีเอเตอร์ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่ามีคุณภาพเท่านั้น ถึงจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มนี้ได้
โดยเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะบริษัทก็มีฐานครีเอเตอร์เดิม ที่เคยร่วมงานกับบริษัท Standard อยู่แล้ว
และด้วยโมเดลธุรกิจที่มีการส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจเดิม ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ทำให้ในปี 2021 Curiosity Stream เจ้าของคอนเทนต์แนวความรู้ อย่าง Discovery Channel ก็ได้ตัดสินใจลงทุนเพื่อเป็นหุ้นส่วนใน Nebula
ซึ่งจากการลงทุนในครั้งนี้ ก็ทำให้ Nebula ถูกประเมินว่ามีมูลค่าบริษัท สูงถึง 1,700 ล้านบาท เลยทีเดียว
และการได้พาร์ตเนอร์รายใหญ่มา ยังช่วยให้ Nebula สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ ผ่านสิทธิพิเศษสำหรับคนที่สมัครสมาชิก Curiosity Stream ให้สามารถเข้าใช้งาน Nebula ได้ฟรีทันที
โดยภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี จำนวนสมาชิกที่จ่ายเงินของ Nebula เติบโตแตะกว่า 350,000 บัญชีแล้ว ส่วนจำนวนครีเอเตอร์ในสังกัด ก็มีมากกว่า 140 ราย
เรียกได้ว่าเป็นสตรีมมิงของเหล่าครีเอเตอร์ ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว
ซึ่งความสำเร็จของ Nebula ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ทั้งในเรื่องการหาช่องว่างของตลาด ที่มีรายใหญ่ครองแล้ว แถมยังให้บริการฟรี อย่างเช่น YouTube
โดย Nebula เน้นการจับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงคัดเลือกครีเอเตอร์ที่มีคุณภาพ
อีกทั้งยังแสดงถึงการต่อยอดทางธุรกิจที่ดี
ในเมื่อ Standard ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมที่มีทรัพยากรสำหรับงานเบื้องหลังอยู่แล้ว
คุณ Wiskus ก็เพียงแค่สร้าง Nebula ที่เป็นช่องทางสำหรับงานเบื้องหน้าขึ้นมา
จนกลายเป็นอาณาจักรคอนเทนต์ ที่ครบวงจร
ที่ได้รับการประเมินมูลค่านับพันล้านบาท..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.